ความรู้เรื่องฝ้าเพดาน

ยกมาจากเวปของ Civil Engineering Service ( วิศวกรรมโยธาบริการ )
เป็น เวปที่ให้ความรู้ดีมากครับแนะนำเลยสำหรับใครที่ต้องดูแลสร้างบ้านหรือซ่อม แซมบ้าน ผมขอยกมาตรงนี้เพราะกลัวต่อไปเกิด link ไปไม่ได้ครับ

เรื่องของฝ้าเพดานควรพิจารณาให้สามารถเปิดซ่อมแซม สิ่งต่าง ๆ เหนือฝ้าได้โดยที่ฝ้าไม่เกิดความเสียหาย ท่านอาจพิจารณาตามข้อดีข้อเสีย และรูปแบบของฝ้าเพดานแบบต่าง ๆ ที่จะเรียนชี้แจงให้ท่านทราบ ณ.บัดนี้

1.ฝ้ายิบซั่ม โครงอลูมิเนียมทีบาร์ เรียบง่ายดี กันความร้อนพอได้ เปิดซ่อมแซมสิ่งของเหนือฝ้าได้ดี ซ่อมสายไฟ ซ่อมระดับฝ้าได้ สะดวกมาก ราคาถูกสุดด้วย แต่ถ้าเวลาฝนตกชื้นมาก ๆ แผ่นยิบซั่มโค้งงอบ้างเพราะความชื้น ฝ้าชนิดนี้จะมีรูอยู่หลาย ๆ จุด และบางครั้งตัดแผ่นเล็กกว่าช่องมีร่องมีรู จุดเหล่านี้ทำให้ฝุ่นทั้งหลายบนฝ้าจะทยอยร่วงลงมาให้เชยชมอยู่ตลอดเวลา หากฝ้าชนิดนี้อยู่ชายคาภายนอกอาคารแล้วล่ะท่านเอ๋ย แผ่นฝ้าของท่านอาจจะปลิวได้ หรืออาจเกิดการเผยอของแผ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อมันอาจจะนำมาซึ่งสัตว์ทั้งหลายเช่น นก หนู งู แมลงต่าง ๆ เป็นต้น เมื่อสัตว์เหล่านี้เข้าจากฝ้าภายนอกได้แล้ว มันก็เข้าบ้านเราได้ โดยที่ลอดตามรูฝ้าลงมานั่นแหละ น่ากลัวเหมือนกัน จำไว้ว่าถ้าสัตว์ต่าง ๆ เข้ามาบนฝ้าได้ มันก็ลงมาในห้องได้เช่นกัน ฝ้าชนิดนี้ขึ้นไปเดินไม่ได้นะ ทำได้แค่โผล่หัวขึ้นไปปฏิบัติงานเท่านั้นเอง เอาตัวขึ้นไปทั้งตัวไม่ได้ เพราะโครงสร้างบอบบางมากแค่รับแผงฝ้าไม่ให้ร่วงเท่านั้นเองครับ

2.ฝ้ายิบซั่มฉาบเรียบ โครงเหล็กชุบสังกะสี เป็นฝ้าชนิดเบา เรียบร้อย สวยงามกันความร้อนได้ดี มิดชิดดี ควรมีช่องเจาะไว้เป็นจุด ๆ พอที่จะโผล่ตัวขึ้นไปซ่อมแซมได้ ฝ้าชนิดนี้เอาตัวขึ้นไปทั้งตัวไม่ได้ รับน้ำหนักเฉพาะฝ้าเท่านั้น ฝ้าชนิดนี้ป้องกันสัตว์ทั้งหลายที่ผลัดหลงเข้ามาอยู่บนฝ้าเราไม่ให้ลงมาในห้องเราได้ ราคาสูงกว่าฝ้ายิบซั่มทีบาร์เล็กน้อยเอง ฝุ่นทั้งหลายที่อยู่บนฝ้าก็ไม่ค่อยจะมารบกวนดีมั้ยครับ แต่การซ่อมแซมสิ่งใด ๆ เหนือฝ้ากระทำได้ลำบาก และถ้าหลังคารั่วลงฝ้าล่ะก็ท่านเอ๋ย ฝ้าของท่านจะเป็นคราบ ขึ้นรา และพังในที่สุด ตอนนี้แหละงานช้างจริง ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันมีอยู่บนฝ้ามาเนิ่นนาน แต่ไม่เคยมารบกวน ตอนนี้มันจะพรั่งพรูมากันโดยทั่วหน้าและโดยพร้อมเพรียงกันทีเดียว ดังนั้นต้องมั่นใจในหลังคา หรือมีผู้รับเหมาทำฝ้าอยู่ใกล้ ๆ บ้าน หรือท่านต้องหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึนกับฝ้าบ่อย ๆ ถ้าเริ่มเห็นมีคราบน้ำ หรือเห็นว่าเปียกชื้น ต้องรีบพิจารณาซ่อมหลังคาทันที มิฉะนั้นงานช้างจะมาหาท่าน

3.ฝ้ายิบซั่ม โครงไม้ 1.1/2" X 3" ระยะห่าง 0.60 ม. เป็นฝ้าชนิดหนัก จะฉาบเรียบ หรือตีเว้นร่องก็ได้ สวยทั้งนั้น กันความร้อนดี ฝ้าแข็งแรง ขึ้นไปซ่อมได้ทั้งตัว เดินบนโครงฝ้าได้ ค่าใช้จ่ายสูงกว่า ใช้เวลามากกว่าฝ้าในข้อ 1 และ 2 ส่วนข้อเสียอื่น ๆ ก็ คล้าย ๆ กับฝ้ายิบซั่มฉาบเรียบ ต้องหมั่นสังเกตการรั่วซึมให้ดีนะครับ

4.ฝ้าไม้อัด โครงไม้ 1.1/2" X 3" ระยะห่าง 0.60 ม. เป็นฝ้าชนิดหนัก ตีเว้นร่องได้สวย กันความร้อนไม่ค่อยดี แพงกว่า ยิบซั่ม ขึ้นไปซ่อมได้ทั้งตัว เดินบนโครงฝ้าได้ ค่าใช้จ่ายสูงกว่าวัสดุยิบซั่ม ใช้เวลามากกว่าฝ้าในข้อ 1 และ 2 การรั่วซึมของหลังคาไม้อัดจะทนน้ำได้นานกว่ายิบซั่ม อาจจะออกอาการบวมขึ้นมา ตามแต่ปริมาณน้ำที่มาอุดหนุน แต่ยิบซั่มทนไฟ ทนปลวกได้นานกว่าไม้ นะครับ

5. ฝ้ากระเบื้องแผ่นเรียบ 4 มม. โครงไม้ 1.1/2" X 3" ระยะห่าง 0.60 ม. เป็นฝ้าชนิดหนัก ตีเว้นร่องได้สวย กันความร้อนได้ปานกลาง ขึ้นไปซ่อมได้ทั้งตัว เดินบนโครงฝ้าได้ ราคาถูกกว่าวัสดุยิบซั่ม ทนน้ำ ทนปลวก ทนไฟ ใช้เวลาในการทำพอ ๆ กันกับฝ้าในข้อ 3 และ ข้อ 4 แข็งเปราะแตกง่าย แต่ส่วนมากจะนิยมใช้ เป็นฝ้าที่ห้องครัว ฝ้าที่โรงจอดรถ และฝ้าชายคาภายนอกอาคารทั้งหลาย ไม่นิยมไว้ในห้องนอน ห้องโถง ห้องทำงาน เป็นต้น ก็คงเพียงพอสำหรับงานฝ้าภายในอาคาร สำหรับงานโดยทั่ว ๆ ไป ที่ไม่พิศดาร

Popular posts from this blog

Make keyboard on PC behave like Mac

Put del.icio.us on your blog

Cannot Run eFilmLt.exe from CD